บัวเต่าถุย

ยุคสมัยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเก่า
บัวสี่เหล่ายังเพิ่มต่อเติมผล
มันผ่าเหล่าผ่ากอหนอชอบกล
แสนฉงนแตกหน่อก่อเมื่อใด
ก่อนเคยมีสี่เหล่าเท่าที่เห็น
มิหลบเร้นพ้นน้ำธรรมสดใส
คือเหล่าแรกรู้ธรรมอันอำไพ
แยกแยะได้ดั่งวิญญูรู้ชั่วดี
เหล่าที่สองเท่าที่รู้อยู่ปริ่มน้ำ
เพียงฟังธรรมจักแจ้งแห่งวิถี
เหล่าที่สามใต้น้ำล้ำนที
ผ่านเดือนปีพยายามพ้นน้ำพลัน
เหล่าที่สี่ใต้ตมจมโคลนนิ่ง
มิไหวติงขี้เกียจน่าเดียดฉันท์
มากมิจฉาทิฏฐิมานานวัน
สุุดท้ายนั้นเป็นอาหารของเต่าปลา
แต่บัดนี้เหล่าใหม่ได้ก่อเกิด
ประดักประเดิดเหลือรับกับปัญหา
เจ้าเสกสรรปั้นแต่งแห่งใดมา
ไร้ปัญญาสมองตรองชั่วดี
เหล่าที่ห้านั้นหรือคือเต่าถุย
ปูปลาบุ้ยคายทิ้งแทบชิ่งหนี
กินไม่ลงเหลือรับกับบัวนี้
ลึกเหลือที่ทรามซากยากเคี้ยวกลืน
เป็นดังบัวต่ำสุดเกินฉุดรั้ง
หมดสิ้นหวังหลุดพ้นจำทนฝืน
อยู่จมปลักดักดานยากฟื้นคืน
ปลาเต่าขื่่นขากถุยเลิกคุ้ยกิน

แต่การให้ธรรมที่แท้จริง ย่อมหมายถึงการทำตนเองของทุกคนให้มีธรรม ให้ธรรมในตนปรากฏแก่คนทั้งหลายโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีการแสดงออกเป็นการสั่งสอนด้วยวาจา หรือเช่นด้วยการแสดงธรรมแบบพระธรรมเทศนาของพระ

นิทานเรื่องนี้มาในกุณาลชาดกชื่อเรื่องนางปัญจปาปา

นางปัญจปาปา ในอดีตกาลนานมาแล้ว ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลก เป็นช่วงว่างจากพระพุทธศาสนา แต่ยุคนั้นยังมีพระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นก็คือพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งตรัสรู้ธรรมด้วยตนเองแต่มิได้ออกสั่งสอนประกาศพระศาสนา นับแต่วันที่ท่านบรรลุอรหันต์ด้วยตนเองแล้ว ท่านก็ปลีกวิเวกไปตามชอบใจของท่านจนกว่าท่านจะสิ้นอายุขัยก็จะเข้าสู่นิพพาน ท่านไม่มีภาระที่จะต้องประกาศศาสนาสั่งสอนใครเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังมีนางกุมารีคนหนึ่งกำลังขยำดินเหนียวฉาบทาฝาเรือนอยู่ ขณะนั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งกุฏิที่ท่านอาศัยมีรูโหว่ท่านจึงออกแสวงหาดินเหนียวไปอุดรูกุฏิของท่าน เมื่อท่านผ่านมาเห็นนางกุมารีนางนี้กำลังขยำดินเหนียวอยู่ ท่านจึงถือบาตรเดินตรงไปหานางกุมารีนั้นเพื่อขอบิณฑบาตดินเหนียวใส่บาตรมาสักก้อน นางกุมารีเห็นดังนั้นก็โกรธคิดว่า “สมณะพวกนี้ตอนเช้าเที่ยวเดินขอข้าวชาวบ้านชาวเมืองกินยังไม่พอ ตัวเรานี้สู้อุตส่าห์ไปขนดินเหนียวหอบหิ้วมานั่งขยำ กว่าจะได้ที่ก็ต้องขยำแทบมืองอเท้างอ สมณะนี้กลับมายืนเฝ้าจะขอดินที่เราขยำดีแล้วไปอีก ช่างไม่รู้จักไปหาเองเอาเสียเลย” คิดดังนี้แล้วก็ค้อนควัก เชิดจมูก ปากบ่นอุบอิบพึมพัม เพื่อจะให้พระปัจเจกพุทธเจ้าล่วงรู้อาการว่านางไม่เต็มใจจะให้ จะได้ไปไปเสีย ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีความเมตตาอารี อยากจะโปรดนางกุมารีน้อยให้ได้ทำบุญ จึงแสร้งทำเป็นไม่ทราบอาการของนาง ยืนนิ่งเปิดบาตรรอรับการบริจาคของนางต่อไป นางกุมารีเห็นดังนั้นก็คิดว่า “ชะรอยสมณะองค์นี้ถ้าไม่ได้อะไรคงจะไม่ไปแน่” นางจึงโกรธกระฟัดกระเฟียดปั้นดินได้ก้อนหนึ่งก็โยนใส่บาตรโดยไม่เคารพ พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อได้ดินแล้วท่านก็เดินจากไปเพื่อทำกิจของท่าน นางกุมารีนั้นเมื่อตายจากชาตินั้นได้มาเกิดในตระกูลคนจน มีอวัยวะที่บิดเบี้ยวอัปลักษณ์ ๕ แห่งคือ มือ เท้า ปาก นัยน์ตา จมูก จึงมีชื่อเรียกว่านางปัญจปาปา แปลว่าผู้มีบาป ๕ ประการ ถามว่าเหตุใดนางจึงมีอวัยวะบิดเบี้ยวอัปลักษณ์ ๕ แห่ง ตอบว่าเพราะนางมีความโกรธเมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ามาบิณฑบาตดินเหนียว นางคิดว่าเราสู้อุตส่าห์ไปขนดินเหนียวมาขยำแทบมืองอเท้างอ สมณะนี้กลับจะมาขอเอาไปเฉยๆ เพราะเหตุนี้จึงทำให้นางมีมือและเท้างอคดอัปลักษณ์ไม่น่าดู และก็เนื่องจากนางใช้ดวงตาค้อนควัก ใช้จมูกเชิดใส่ ใช้ปากบ่นอุบอิบพึมพำให้พระปัจเจกพุทธเจ้า นางจึงมีดวงตา จมูก และปากบิดเบี้ยวพิกลอัปลักษณ์ ฉะนั้นนางจึงมีชื่อว่า ปัญจปาปา แต่ว่าด้วยอานิสงส์การถวายดินเหนียวก้อนนั้นแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีผลอันยิ่งใหญ่แก่นาง คือทำให้ร่างกายผิวพรรณของนางนั้นมีความนุ่มเนียนเรียบลื่นน่าสัมผัสเปรียบประดุจสัมผัสอันเป็นทิพย์ของนางฟ้านางสวรรค์ ใครถูกต้องนางจะติดใจไม่สามารถตัดใจจากนางได้ ด้วยผลบุญที่นางได้ถวายดินเหนียว ทำให้นางได้เป็นอัครมเหสีของพระราชาถึง ๒ พระองค์ คือพระเจ้าพกะ และพระเจ้าทีปาวาริกะ เรื่องราวมีอยู่ว่า การที่นางได้เป็นมเหสีของพระราชาองค์แรกเนื่องจากพระราชาได้ปลอมพระองค์ออกไปตรวจตราบ้านเมืองยามค่ำคืน บังเอิญนางปัญจปาปาวิ่งเล่นได้มาชนพระราชาโดยไม่ตั้งใจ พระราชาก็ติดใจในสัมผัสกายของนางจึงไปสู่ขอต่อพ่อแม่นางและปลอมตัวออกมาสมสู่กับนาง และต่อมายิ่งหลงใหลในสัมผัสของนางมากขึ้น มิอาจตัดใจจึงได้รับนางเข้าวัง แต่ต่อมามีผู้อิจฉาใส่ร้ายนางว่าที่นางอัปลักษณ์ดังนี้คงเป็นยักษ์เป็นมารปลอมตัวมา พระราชาเชื่อจึงจับนางใส่เรือลอยน้ำไป นางลอยไปกับเรือจนไปเจอพระราชาองค์ที่ ๒ กำลังประพาสท่องเที่ยว นางจึงร้องบอกว่านางคือมเหสีของพระเจ้าพกะ แล้วนางจึงออกอุบายให้พระราชาองค์ที่ ๒ คือพระเจ้าทีปาวาริกะฉุดนางขึ้นจากเรือ เมื่อมือสัมผัสมือพระเจ้าทีปาวาริกะก็เกิดหลงใหลในสัมผัสของนาง พานางไปแต่งตั้งอยู่ในอัครมเหสี ฝ่ายพระเจ้าพกะหวนคิดถึงนางปัญจปาปาจนไม่เป็นอันกินอันนอน ต่อมาได้ข่าวว่านางมาอยู่กับพระเจ้าทีปาวาริกะ จึงยกกองทัพมาหวังจะชิงนางคืน ภายหลังได้ตกลงกันว่าจะแบ่งเวลาที่จะอยู่ร่วมกับนางปัญจปาปา นั่นคือนางปัญจปาปาจะอยู่กับพระราชาองค์ที่ ๑ ช่วงหนึ่ง แล้วจึงย้ายไปอยู่กับพระราชาองค์ที่ ๒ อีกช่วงหนึ่งเวลาเท่าๆ กันเหตุการณ์จึงสงบลง นางปัญจปาปาจึงเป็นอัครมเหสีของพระราชา ๒ เมืองได้ด้วยประการฉะนี้ ฉะนั้นนิทานเรื่องนี้สอนว่า เวลาเราจะทำบุญทำกุศลอันใดให้ตั้งจิตให้ดี อย่าทะเลาะเบาะแว้งโกรธเคืองขุ่นเคืองกับใคร จงทำจิตให้ผ่องใส ปิติร่าเริง บุญกุศลจะได้บังเกิดอย่างบริสุทธิ์ไม่มีมลทินมาแปดเปื้อนอย่างเรื่องของนางปัญจปาปาที่สาธกมาเป็นอุทาหรณ์ดังนี้แล